ประเพณีรับตายาย-ส่งตายาย






           
          


           การทำบุญสารทเดือนสิบ หรือทำบุญตายาย เป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่โบราณ โดยในช่วงปลายเดือนสิบของแต่ละปี ช่วงเวลานั้น เป็นช่วงเวลาที่พืชพันธุ์ธัญญาหารในท้องถิ่นได้รับผล คนสมัยโบราณจะมีพิธีกรรมเซ่นสังเวยผลแรกแก่ ผีสาง เทวดาเพื่อเป็นสิริมงคล เมื่อได้รับศาสนาพราหมณ์และพุทธ พิธีกรรมดังกล่าวจึงเปลี่ยนมาเป็นการทำบุญตามความเชื่อทางศาสนา ประกอบด้วยเชื่อกันว่า ในระยะเดียวกันนี้เปรตที่มีชื่อว่า "ปรทัตตูปชีวีเปรต" จะถูกปล่อยใหัขึ้นมาจากนรก เพื่อมาร้องขอส่วนบุญต่อลูกหลานญาติพี่น้อง เหตุนี้ ณ โลกมนุษย์จึงได้มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปไห้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย พี่น้อง ลูกหลานที่ล่วงลับไป โดยการจัดอาหารคาวหวานวางไว้ที่บริเวณวัด เรียกว่า "ตั้งเปรต" ตามพิธีไสยเวทอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้พัฒนามาเป็น การชิงเปรต ในเวลาต่อมา
         วันรับตายาย จะตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ถือว่าวันนี้เป็นวันแรกที่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับมาจากยมโลก วันนี้จะมีการจัดอาหารคาวหวาน ดอกไม้ธูปเทียน ไปทำบุญที่วัด เพื่อเป็นการอุทิศ ส่วนกุศลให้แด่ท่านผู้ล่วงลับ เรียกวันทำบุญวันนี้ว่าวัน หมฺรับเล็กคนที่ไปทำงานหรือไปอาศัยที่อื่นๆก็จะเดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อร่วมงานบุญนี้กับครอบครัว เป็นวันรวมญาติกันอีกวันหนึ่ง
         วันส่งตายาย ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ถือว่าเป็นวันที่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับจะต้องกลับยมโลกดังเดิม เป็นพิธีใหญ่ของงานบุญสารทเดือนสิบ เริ่มทำกันตั้งแต่วันแรม 13 ค่ำ โดยแต่ละบ้านจะเตรียมจับจ่ายซื้อข้าวของเครื่องใช้ เตรียมทำขนมที่ใช้ในพิธี รุ่งขึ้นวันแรม 14 ค่ำ เป็นวันที่ลูกหลานร่วมกันแบกหาม หรือ ทูนหฺมฺรับที่จัดเตรียมเรียบร้อยแล้ว ไปถวายพระที่วัด อาจจะรวมกลุ่มคนบ้านไกล้เรือนเคียงไปเป็นกลุ่มตามธรรมชาติ หรือบางทีอาจจะจัดเป็นขบวนแห่เพื่อความคึกคักสนุกสนานก็ได้ การจัดหฺมฺรับ ส่วนใหญ่จะใช้ของแห้งที่เก็บไว้ได้นาน เพราะสะดวกในการจัดเก็บและรักษา โดยนิยมจัดในภาชนะกระบุง กะละมัง ถัง ถาด วิธีจัดจะใส่ข้าวสารรองชั้นล่าง ตามด้วยเครื่องปรุงพวกของแห้งที่ใช้ในครัว ชั้นถัดมาเป็นพวกอาหารแห้ง หยูกยา หมากพลู และของใช้จำเป็นประจำวัน ส่วนหัวใจของหฺมฺรับที่เป็นเอกลักษณ์ขาดไม่ได้มี 5 อย่าง (บางแห่งมี 6 อย่าง) เป็นคติความเชื่อที่ใช้รูปทรง ลักษณะของขนมเป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งจำเป็น และควรมีสำหรับเปรต คือ ขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า ขนมดีซำ ขนมกง(ไข่ปลา) และลาลอยมัน วันแรม 15 ค่ำเดือนสิบ เป็นวันที่นำอาหารคาวหวานไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัดครั้งใหญ่ ทำพิธีบังสุกุล อุทิศส่วนกุศลให้บรรพชน ทำพิธีฉลองสมโภชหฺมฺรับที่ยกมา และตั้งร้านเปรตเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้วิญญาณที่ไม่มีลูกหลานมาทำบุญให้  มีการชิงเปรต และแจกจ่ายขนมในหฺมฺรับ ที่เหลือจากถวายพระแบ่งให้ลูกหลานนำกลับไปกินกันเป็นสิริมงคล และแสดงความใกล้ชิดในบรรพบุรุษ      ประเพณีรับตายาย-ส่งตายาย ในเทศกาลบุญสารทเดือนสิบของชาวใต้ มีทั้งพิธีกรรมทางประเพณี และพิธีทางพุทธศาสนา งานนี้จึงจัดขึ้นที่วัดทุกแห่งในภาคใต้ แต่ที่จัดอย่างยิ่งใหญ่จนเป็นงานประจำปีของจังหวัด คืองานเดือนสิบ จังหวัดนครศรีธรรมราช จากประเพณีท้องถิ่นที่ทำกันทุกหมู่บ้าน มาเป็นงานประจำปีของจังหวัด เริ่มจัดงานครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2466 ที่วัดพระมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ภายหลังจึงถือปฏิบัติสืบเนื่องมาเป็นประจำทุกปี จนปัจจุบัน กล่าวได้ว่า กลายเป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่ง ทั้งความสำคัญและความยิ่งใหญ่ ของการจัดงานทำให้งานนี้เป็นที่รู้จักกันดีทั่วไป ในภาคใต้ รวมทั้งภาคอื่นๆ ของประเทศด้วย      

                              อ้างอิง http://www.prommapanyo.com/smf/index.php?topic=2606.0;wap2

3 ความคิดเห็น: